“สหกรณ์ออมทรัพย์” อีกสถาบันการออมและการลงทุนสำคัญระบบเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึง สหกรณ์ออมทรัพย์ (Savings Cooperative) คนทั่วไปมักจะนึกถึงการเป็นแหล่งเงินกู้ของสมาชิกสหกรณ์ มีเงินกู้ฉุกเฉิน เงินกู้เพื่อเปิดภาคเรียน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงข้าราชการ จะคุ้นเคยกับสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นอย่างดี เนื่องจากได้พึ่งพาและใช้บริการการเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยราชการต่างๆ อยู่เสมอ




สำหรับประเทศไทยมีสหกรณ์ออมทรัพย์ 2 ประเภท คือ สหกรณ์เครดิตยูเนียน (สหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับสมาชิกที่ไม่มีรายได้ประจำ) และ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีรายได้ประจำ การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มีหลักการพื้นฐานของเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไป คือการช่วยเหลือสมาชิก โดยใช้หลักของความเท่าเทียมและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน สหกรณ์จะอยู่ได้เพราะสมาชิกซื่อสัตย์และมีการตรวจสอบเชื่อใจกัน สมาชิกแต่ละคนมีเสียงเพียงหนึ่งเสียงไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งต่างกับกรณีการถือหุ้นสถาบันการเงินที่สิทธิออกเสียงขั้นกับจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น เมื่อสหกรณ์มีความมั่นคงมีผลประกอบการดีสมาชิกก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับในรูปเงินปันผล

นอกจากการให้บริการทางการเงินเบื้องต้นแก่กลุ่มสมาชิกของตนเองแล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ ยังถือเป็นสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่งที่มีบทบาทในการระดมเงินออมของประชาชนรายย่อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกเข้มงวดกับการออมทรัพย์เพื่อที่จะมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น ในภาพรวมถือว่ามีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้สถาบันการเงินหรือธนาคารในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจากจำนวนสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศในแต่ละปี ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีความสำคัญในด้านการส่งเสริมการออมอีกสถาบันหนึ่ง อีกทั้งการเติบโตขึ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศในแง่การนำเงินออมเหล่านี้ไปใช้ในการลงทุนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป


(ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง http://www.fpo.go.th/S-I/Source/Article/Article67.htm)