ดัน “กฤษฎา” ตั้งธนาคารสหกรณ์แทนคุมเข้ม

 
กรมส่งเสริมสหกรณ์ดัน “กฤษฎา บุญราช” สานต่อการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์แก้ปัญหาการเงินของสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ชี้การเพิ่มความเข้มงวดออกกฎระเบียบกำกับดูแล ทำให้สหกรณ์ทำงานลำบากขึ้น ผิดเจตนารมณ์การก่อตั้งที่แท้จริง และเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ
 
แหล่งข่าวกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามเข้ามากำกับดูแลสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ทั้งการออกกฎระเบียบกำกับดูแลหรือแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ เพื่อป้องกันการทุจริตดั่งที่เกิดขึ้นเป็นระยะนั้น ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น แต่การทุจริตก็ยังเกิดขึ้น
 
 
ทุกวันนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรับฝากเงินหรือปล่อยกู้แก่สมาชิกลำบาก ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจัดตั้งธนาคารสหกรณ์โดยเฉพาะ ดั่งที่เกิดขึ้นในปี 2495 แต่ภายหลังต้องล้มไป เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญด้วยการออกพระราชบัญญัติสถาบันการเงินขึ้นมาในปี 2505
 
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ผลักดันการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์มาตั้งแต่สมัย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกำลังผลักดันให้นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สานต่อในการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้งานสหกรณ์ทั่วประเทศเกิดความคล่องตัวในการทำงานและเติบโตในอนาคต และไม่เกิดปัญหาเหมือนสหกรณ์รถไฟไทยหรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
 
หากเปรียบสหกรณ์ทั่วประเทศเป็นเหมือนแก้วที่มีน้ำอยู่ ธนาคารสหกรณ์ก็เปรียบเหมือนโอ่งที่คอยรองรับน้ำที่ล้นแก้ว ตรงกับเจตนารมณ์ของกลุ่มคนที่มาร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ด้วยความสมัครใจ ร่วมกันช่วยเหลือด้านการเงินแก่สมาชิกที่ลำบาก โดยสหกรณ์ไม่หวังผลกำไร
 
ปัญหาของสหกรณ์ทุกวันนี้มาจากการรับฝากเงินจากสมาชิกแฝง พ่อแม่ ญาติพี่น้องของสมาชิกสหกรณ์ เอาเงินมาให้สมาชิกสหกรณ์ฝาก เพื่อหวังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูง ทำให้สหกรณ์จำนวนมากที่รับฝากต้องไปปล่อยกู้ที่ค่อนข้างยากขึ้น ปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น จึงควรมีเงื่อนไขการคืนเงินส่วนที่ปล่อยกู้ไม่ได้คืนสมาชิกโดยไม่ให้ดอกเบี้ย เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาเหมือนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่รับฝากมากเกินไป หาที่ปล่อยกู้อีกทอดลำบาก สุดท้ายก็เกิดปัญหาทุจริตตามมา หรืออย่างสหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟไทย มีพนักงานเกษียณอายุงานไปแล้วค่อนข้างมาก มีแต่เงินบำนาญ อยากจะมีบ้านอยู่อาศัย แต่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปล่อยกู้ให้ไม่ได้ คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟไทย จึงนำเงินหลายพันล้านบาทไปปล่อยกู้จัดซื้อที่ดินที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรีให้ แต่เมื่อสหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟไทยไม่ใช่สหกรณ์บริการหรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่ทำธุรกิจได้หลากหลาย จึงมีการตรวจสอบและสั่งยุติการปล่อยกู้ตามมา
 
“ถ้าไม่ตั้งธนาคารสหกรณ์ ต่อไปจะมีการแห่ไปตั้งสหกรณ์บริการแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่ถูกกำกับดูแลเข้มข้นขึ้นแทน เพราะทำธุรกิจได้หลากหลาย แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นตามมา จากความชำนาญหรือความเป็นมืออาชีพในธุรกิจไม่มี เกิดการทุจริตตามมา จึงควรพิจารณาจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ขึ้น ซึ่งจะทำให้สหกรณ์ทั้งระบบอยู่ในแถวตามเจตจำนงในการตั้งสหกรณ์แต่ละแห่ง เพราะมิเช่นนั้นก็จะต้องมานั่งประชุมจัดทำร่างกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลสหกรณ์หนักขึ้น ทำให้ผิดเจตจำนงในการก่อตั้งสหกรณ์ และส่วนใหญ่ผู้ที่มาร่างกฎระเบียบดูแลสหกรณ์จะมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากบริษัท ประกันชีวิต ที่ไม่เข้าใจวิถีสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภทอย่างแท้จริง และปกติก็เป็นคู่แข่งในการดึงลูกค้ากันอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

 
อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ทั่วประเทศถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ขึ้นในหลายมาตรา ในการกำกับดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศทั้ง 7 ประเภท ซึ่งมีการออกความเห็นกันมากใน 3 ประเด็น (ในตาราง) ก่อนจะมีการรวบรวมความเห็นทั้งหมดส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในกลางเดือน มิ.ย.ศกนี้
 
    UploadImage  
Live การสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่าง พรบ.สหกรณ์ (ฉบับใหม่)





ช่วงบ่าย : การสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่าง พรบ.สหกรณ์ (ฉบับใหม่)